รายชื่อผู้ประสงค์เล่าเรียนหลักสูตรอบรมระยะสั้น ประจำปีการศึกษา 2564 (อัปเดตล่าสุดถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564)
22/02/2021สระแก้วบูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนและพัฒนาสมุนไพรให้สระแก้วเป็นเมืองสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้และมูลค่า
27/02/2021“จังหวัดนครพนม เปิดแผนขับเคลื่อนสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ 2564” เร่งพีอาร์ 3 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัดนครพนม
วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.30 น. นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานคุ้มครอง ส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและพัฒนาเมืองสมุนไพร จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานส่งเสริมสมุนไพรเศรษฐกิจจังหวัดนครพนมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร ส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกสมุนไพรมากขึ้นในปี 2563 เป็น 96 ไร่ ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดนครพนม เพื่อตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมนไพร การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง จนเกิดรายได้แก่ชุนและลดรายจ่ายในสถานบริการสาธารณสุข อาทิ แปลงปลูกสมุนไพรตะไคร้หอม จำนวน 10 ไร่ ผ่านมาตรฐาน GAP มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ลูกประคบ และธูปไล่ยุงสมุนไพร เกิดรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน รวมถึงชมรมแพทย์แผนไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไพรรักษา มีการรวมกลุ่มปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันไพล ลูกประคบ สเปรย์ไล่ยุง และยาหม่องไพล เกิดเงินทุนหมุนเวียนสมาชิก จำนวน 30,000 บาท
นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมเชิงนโยบาย โดยการกำหนดนโยบายประกาศใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันทั้งจังหวัด จำนวน 5-7 รายการ และนโยบายสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรกำหนดเป้าหมายมูลค่าการซื้อยาสมุนไพรของแต่ละโรงพยาบาลในจังหวัดนครพนม จากโรงพยาบาลเรณูนคร ในอัตรา 3 บาทต่อประชากร เป็นเงิน 2,057,950 บาท ซึ่งโรงงานผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลรัฐ คือ โรงพยาบาลเรณูนคร สามารถผลิตยาสมุนไพร จำนวน 60 รายการ สนับสนุนให้แก่สถานบริการสาธารณสุขทั้งในจังหวัดนครพนม และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 รวมมูลค่ายา 4,988,992 บาท รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรประจำจังหวัดที่มีงานวิจัยรองรับ การส่งเสริมการนำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย บูรณาการสร้างเรื่องราวสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในจังหวัดนครพนม
จังหวัดนครพนม สนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ.2560-2564 ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยอย่างครบวงจร มีแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน มีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่และเครือข่ายภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านที่เข้มแข็ง มีโรงงานแปรรูปวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสากล มีแหล่งศูนย์กลางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยครบวงจร โดยเน้นการพัฒนาทั้งระบบให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้ถ่ายทอดเป็นยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด
ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดนครพนม และมหาวิทยาลัยนครพนม คณะเทคโนโลยีและการเกษตรนครพนม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและขยายตลาดสมุนไพร โดยมีหน่วยงานภาคีเครือขายที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาบุคลากร โดยมีหน่วยงานภาคเครือข่ายมหาวิทยาลัยนครพนม คณะเทคโนโลยีและการเกษตรนครพนม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการบริหารจัดการการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอัตลักษณ์ที่ได้รับสิทธิ์การผลิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้มีโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัดนครพนม โดยทีมนักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ ได้มีการนำสารสกัดสมุนไพรจากพื้นที่จังหวัดนครพนม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ที่ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 3 ชนิด ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์จากกันเกรา “#กันเกราแฮร์แชมพู” (Kankrao Hair Care Shampoo)
2. ผลิตภัณฑ์จากเครือหมาน้อย “#เคลย์มาส์กฟอร์มูลาแคปซูล” (Clay Mask Formula Capsule)
3. ผลิตภัณฑ์จากมะม่วงหาว “#คารันดาฟรุ๊ตลิปแคร์” (Karonda Fruit Lip Care) ซึ่งกิจกรรมต่อที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ การประชาสัมพันธ์ ยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด (ที่มีงานวิจัยรองรับ) และเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชน บริษัทหรือเอกชนในจังหวัดนครพนม สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้เกิดรายได้ โดยผู้สนใจจะจำหน่ายให้รับจากผู้ผลิตภายในจังหวัดที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่านั้น
สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณเจษฎาวดี แก้วมณีชัย เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โทร. 06 3412 6377